ทุเรียน (Durian) เป็นผลไม้ที่รู้จักกันมากในภูมิภาคเอเชียภาคใต้ และมีความเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม, มีบางครั้งที่ทุเรียนอาจถูกทำลายโดยโรคต่าง ๆ ที่สามารถมีผลกระทบต่อการผลิตและคุณภาพของทุเรียนได้ นอกจากนี้, โรคบางประการยังสามารถถ่ายทอดไปยังต้นอื่น ๆ และส่งผลให้เกิดความเสียหายมากขึ้นได้
เรามาทำความรู้จักกับโรคที่มักจะมากับทุเรียนกันค่ะ
1.โรคไฟทอปธอร่า
โรคที่กำจัดยากที่สุดและสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ Phytophthora spp. โดยเชื้อจะเริ่มแพร่เข้าสู่ทุเรียนได้ ตั้งแต่รากที่อยู่ใต้ดินและโคนต้น จากนั้นจะเริ่มไปทางท่อลำเลียงน้ำ และแพร่กระจายไปทั่วต้น
อาการของโรคแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น รากเน่า โคนเน่า แต่อาการที่พบโดยทั่วในสวนทุเรียน เรามักเห็นอาการแผลอยู่บนลำต้น มากกว่าที่โคนต้น แผลของโรค มีลักษณะเป็นแผลตกสะเก็ดสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมม่วง ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า stem canker ตามด้วยอาการใบเหลือง เมื่อโรคแพร่กระจายไปสู่ยอด ก็จะเกิดอาการยอดเหี่ยว และใบร่วง ต้นจะทรุดโทรมไปเรื่อยๆ ผลผลิตลดลง หรือผลทุเรียนไม่สมบรูณ์และยืนต้นตาย ในที่สุด จนต้องโค่นทิ้ง แต่ที่น่ากลัวอยู่ตรงที่ว่า ถึงแม้จะโค่นทุเรียนต้นเดิมทิ้งไปแล้ว ถ้าหากมีการปลูกทุเรียนใหม่ในพื้นที่เดิม เชื้อไฟทอปธอราก็จะยังแพร่กระจายอยู่ได้ และทำลายทุเรียนต้นใหม่ไปได้เรื่อยๆ ถ้าหากเกษตรกรไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
2. โรคแอนแทรคโนส
มักจะเกิดในสภาพแวดล้อมที่ชื้นและอุณหภูมิสูง, โดยเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides จะเข้าทำลายต้นทุเรียนในระยะใบอ่อนที่แผ่กางเต็มใบ จะปรากฏอาการซีดจาง หรือเหลืองอ่อนเป็นจุดขนาดเล็กที่เริ่มจากสีน้ำตาลหรือดำและขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถกระจายไปยังผลทุเรียน ทำให้ผลทุเรียนเน่าเสีย
วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือควรเว้นระยะห่างของทุเรียนแต่ละต้น การตัดแต่งกิ่งให้ทุเรียนให้ได้รับแสงและอากาศถึงมากขึ้น การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับพืช การลดการให้น้ำบนผลทุเรียนช่วงเวลาที่มีความชื้นสูง จะช่วยลดโอกาสการพัฒนาของเชื้อรา
3. โรคใบติด
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani อาการมักพบที่ใบอ่อน ใบจะมีรอยจุดไหม้ บริเวณกลางใบหรือขอบใบ ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แล้วลุกลามไปยังใบอื่นๆที่อยู่ติดกัน โดยจะมีเส้นใยที่ดูเหมือนใยแมงมุมยึดใบให้ติดกัน
การแพร่ระบาดจะเร็วมากในช่วงหน้าฝน เพียงแค่ใบที่มีอาการของโรคไปสัมผัสถูกใบอื่น เชื้อราก็สามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ได้ วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือการเว้นระยะห่างของทุเรียนแต่ละต้น ตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสม เพื่อให้ได้รับแสงแดดและอากาศถ่ายเทได้ดี
4. โรคราสีชมพู
โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อรา Cortricium Salmonicolor ทำให้เกิดอาการเป็นจุดแผลขนาดเล็กๆ สังเกตได้ชัดที่กิ่งหรือลำต้น จะมีจุดสีเหลืองๆขึ้นตะปุ่มตะป่ำและเส้นใยจากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพู แห้งเป็นขุยๆ ถ้าปล่อยไว้นานกิ่งจะเริ่มแตก และแห้งตายได้ การตัดแต่งกิ่งให้ทุเรียนได้รับการถ่ายเทอากาศและแสงแดดที่เพียงพอ การลดการความหนาของทรงพุ่มทุเรียนย่อมช่วยลดความชื้นที่สะสมในพื้นที่ที่สูงขึ้น เป็นอีกหนทางที่ป้องกันได้
5. โรคราแป้ง
โรคนี้เกิดจากเชื้อราที่ชื่อ Oidium sp. สามารถเข้าทำลายผลเรียนได้ตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนจนกระทั่งผลแก่ หากเข้าทำลายระยะช่อดอกและผลอ่อนจะมีลักษณะคล้ายฝุ่นแป้งปกคลุม กลีบดอกและผลอ่อนเห็นเป็นผงสีขาว (คือเส้นใย และส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา) ขึ้นปกคลุมทั้งผลหรือด้านใดด้านหนึ่งของผล ถ้าการเข้าทำลายรุนแรงในระยะติดผล อาจทำให้ผลอ่อนร่วงได้ หรือถ้าเป็นกับผลที่กำลังเจริญเติบโต จะทำให้สีผิวของเปลือกทุเรียนผิดปกติ (เป็นสีน้ำตาลแดง ไม่เป็นมัน) และทำให้หนามทุเรียนเป็นรอยแตกเล็ก ๆ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลมในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งและเย็น ป้องกันโดยการตัดแต่งกิ่งให้ทุเรียนได้รับการถ่ายเทอากาศและแสงแดดที่เพียงพอ เว้นระยะห่างการปลูกต้นทุเรียน การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับพืช
6. โรคราดำ
เกิดจากเชื้อรา Capnodium sp. Mont. ทำให้ผลทุเรียนมีราสีดำเป็นจุด ๆ หรือปกคลุมกระจายทั่วผล จุดมักรวมตัวกันทำให้เห็นเป็นปื้นดำ ทำให้ผิวผลทุเรียนไม่สะอาด และมีราคาตกต่ำลง พาหะนำโรคที่สำคัญคือเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ มีการขับถ่ายสารเหนียวๆ ลงบนผล ซึ่งเป็นอาหารของราดำ และมักพบราดำในสภาพความชื้นสูง โดยพบกับต้นทุเรียนที่มีพุ่มแน่นทึบ ป้องกันโดยการตัดแต่งกิ่งให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดที่เพียงพอ เว้นระยะห่างการปลูกต้นทุเรียน การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับพืช
7. โรคผลเน่า
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับโรครากเน่าและโคนเน่า สามารถเข้าทำลายผลทุเรียนได้ตั่งแต่ผลอ่อนจนกระทั่งแก่ ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณก้นผล มักพบรอยช้ำเป็นจ้ำๆสีน้ำตาลปนเทา เน่าไปถึงเนื้อได้ จะเกิดกับผลในช่วง ประมาณ 1 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ทันทีที่เห็นอาการของโรค ให้รีบนำผลที่เป็นโรคไปเผาทิ้งไม่อย่างนั้นแล้วทุเรียนลูกอื่นๆจะติดโรคไปด้วย และเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรป้องกันและกำจัดรากเน่าโคนเน่าควบคู่กันไปด้วย
การป้องกันและควบคุมโรคทุเรียน เริ่มต้นจากการดูแลและรักษาต้นทุเรียนในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม, การจัดการน้ำ, การให้ปุ๋ย, และการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ.
Comments